Saturday, April 23, 2016

วิสาหกิจชุมชน กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต่างกันอย่างไร



วิสาหกิจชุมชน กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต่างกันอย่างไร
วิสาหกิจชุมชน กับ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีความเหมือนกันและแตกต่างกันอย่างไร มาทำความรู้จักและข้อแตกต่างกันระหว่างหน่วยธุรกิจทั้งสองคำกันดีกว่า

ความแตกต่างด้านขนาดของกิจการ

วิสาหกิจชุมชุน (SMCE หรือ small and micro community enterprise) หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกผัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตัวเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน โดยใช้ทรัพยากร ผลผลิต ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีตนเอง ยึดโยงเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ชุมชน แข้มแข็ง เพื่อที่เป็นส่วนต่อยอดให้ระบบเศรษฐกิจข้างบนแข็งแรงเพราะมีรากฐานที่แข็งแรง

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีคำที่คุ้นหูเราว่า “SMEs” ย่อมาจาก Small and Medium Enterprises) เป็นหน่วยธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าวิสาหกิจชุมชนและเป็นหน่วยธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศและมีความสำคัญไม่น้อยต่อกระบวนการพัฒนาประเทศ ซึ่งกฎกระทรวง ที่กำหนดขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คือ “กฎกระทรวง กำหนดการจ้างงานและมูลค่าทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2545” โดยหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกกิจการของ SMEs ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม คือ

1 มูลค่าชั้นสูงของสินทรัพย์ถาวร
2 จำนวนการจ้างงาน
การจำแนกประเภทของ SMEs โดยใช้มูลค่าชั้นสูงของสินทรัพย์ถาวร สามารถจำแนกได้ดังนี้
1) การผลิต : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 ล้านบาท
2) การบริการ : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 ล้านบาท
3) การค้า
3.1 ค้าส่ง : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 100 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 ล้านบาท
3.2 ค้าปลีก : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 60 ล้านบาท วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 30 ล้านบาท
การจำแนกประเภทของ SMEs โดยใช้เกณฑ์จากจำนวนการจ้างงาน สามารถจำแนกได้ดังนี้
1) การผลิต : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 คน วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 คน
2) การบริการ : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 คน วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 50 คน
3) การค้า
3.1 ค้าส่ง : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 50 คน วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 25 คน
3.2 ค้าปลีก : วิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 30 คน วิสาหกิจขนาดเล็กไม่เกิน 15 คน

ข้อแตกต่างด้านกฎหมายส่งเสริม

รัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และเมื่อ ปี 2548 ได้ตรา “พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548” โดยมีความมุ่งหมายให้วิสาหกิจชุมชนเป็นเศรษฐกิจพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนาความสามารถในการจัดการ และพัฒนารูปของวิสาหกิจชุมชน อันเป็นผลให้ชุมชนเกิดการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ พร้อมแข่งขันทางการค้าในอนาคต และก้าวพัฒนาเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน” มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ อาทิ การเสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย มาตราการและแผนพัฒนา ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือให้คำแนะนำด้านต่างๆ เช่น ด้านการดำเนินการ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อประโยชน์ของกิจการวิสาหกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนที่จะได้รับการส่งเสริมจะต้องยื่นคำร้องจดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร

การดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนอีกรูปแบบหนึ่งอาจเป็นในรูปแบบของ “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน”ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่รวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมอย่างใดๆเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนในเครือข่าย ซึ่งต้องยื่นคำร้องจดเบียนเหมือนกันกับวิสาหกิจชุมชน โดยจะดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้

ในส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เมื่อปี 2543 ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยจัดให้มีกระบวนการช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุน และมาตราการด้านสิทธิและประโยชน์ที่เหมาะสม โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เรียกกันคุ้นปากว่า สสว. เป็นตัวจักรขับเคลื่อนบูรณาการในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องไปในทิศทางเดียว มีคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน มีกองทุน ที่เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” เพื่อใช้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการสนับสนุนส่งเสริมและช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างมีประสิทธิภาพ

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีข้อแตกต่างกันในแง่ขนาดและทางกฎหมายส่งเสริม กล่าวโดยสรุปวิสาหกิจชุมชนเป็นหน่วยเศรษฐกิจฐานรากที่หากได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ ทำให้พวกเขาได้รับการพัฒนาเป็นหน่วยทางธุรกิจที่เติบโตกลายเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเมื่อเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแล้วก็สมควรได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือ ให้เติบโตเป็นองค์กรทางธุรกิจที่เข็มแข็งและใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานต้องบูรณาการการส่งเสริม ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและเป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข็มแข็ง เปรียบเหมือนบ้านที่มีรากฐานที่แข็งแรงมั่นคง ย่อมส่งผลให้ผู้อาศัยมีความสุขเหมือนกัน

http://www.sme.go.th/Lists/EditorInput/DispF.aspx?List=15dca7fb-bf2e-464e-97e5-440321040570&ID=1781